แผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 (พ.ศ.2566-2570)
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างไม่หยุดนิ่ง โดยได้จัดทำแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) ขึ้น เพื่อเป็นแผนกลยุทธ์ที่มีเป้าหมายสำหรับขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยรวม ให้ตอบสนองต่อเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและความต้องการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งในระดับพื้นที่และประเทศ อาทิ นักศึกษา ผู้เรียน ผู้ใช้บัณฑิต ชุมชน สังคม องค์กรของรัฐและเอกชนที่เป็นผู้ใช้ผลงานทางวิชาการและวิจัย เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยและประเทศให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ด้วยสมรรถนะหลักที่มุ่งเน้นการบูรณาการความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่หลากหลาย เพื่อสร้างนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงการบริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในระยะ 4 ปี (พ.ศ.2566-2570) งานแถลงข่าวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ว่าแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 ได้กำหนดวิสัยทัศน์ "มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม" โดยได้ออกแบบระบบและกลไกการบริหารงานให้สอดรับกับวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Objectives) ที่กำหนดไว้ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ SO1 สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านนวัตกรรมเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Biopolis Platform) SO2 สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านนวัตกรรมการแพทย์ สุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ (Medicopolis Platform) SO3 สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna Platform) SO4 สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการจัดการศึกษา (Educational Platform) SO5 สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการวิจัยและนวัตกรรม (Research and Innovation Platform) SO6 บริหารจัดการองค์กรเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ (CMU Excellence Management Platform) พร้อมกันนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ปักธงเพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม (Innovation University) นับเป็นโจทย์ท้าทายที่มีความสำคัญในยุคปัจจุบัน โดยจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย นำความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะนวัตกรรมทางการศึกษาซึ่งถือเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยมีความจำเป็นต้องพัฒนาเพื่อการปรับตัวให้เข้ากับบริบททางการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว (Educational Innovation) ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องเร่งกระบวนการในการผลักดันการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรที่มีอยู่ของมหาวิทยาลัย ได้แก่ นักวิจัย บุคลากร นักศึกษา เครื่องมือวิจัย องค์ความรู้ งานวิจัยภูมิปัญญา ให้นำไปสู่การใช้งานจริงเพื่อสร้างนวัตกรรมผ่านกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) การสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพ (ทั้งที่เป็น Hi-Tech Start-up และ Hi-Touch Start-up) รวมไปถึงการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมและชุมชน (Social Innovation) ที่ต่อยอดความสำเร็จของการเป็นมหาวิทยาลัยรับใช้สังคม สามารถส่งต่อนวัตกรรมไปสร้างความเข้มแข็ง และคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับภาคประชาชนบนพื้นฐานการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างนวัตกรรมระหว่างภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม อาทิ นโยบายด้านนวัตกรรมเศรษฐกิจฐานชีวภาพ BCG Valley in CMU Biopolis Platform เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาด้าน BCG ในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อขยายผลสู่ระดับประเทศและนานาชาติ เช่น Agri Smart Engine for SDGs (เกษตรอัจฉริยะอย่างยั่งยืน): การสร้างระบบการเกษตรที่ทันสมัย ใช้ AI และมีมาตรฐาน สะอาด ปลอดภัย ได้ผลผลิตสูง ช่วยให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ ส่งผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดภาระด้านสิ่งแวดล้อม นโยบายด้านนวัตกรรมการแพทย์ สุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ Medicopolis Platform เช่น “Health Care Service System and Medical Hub” จัดตั้งศูนย์บริการสุขภาพและนวัตกรรมสุขภาพ ตลอดจนสร้างระบบดูแลสุขภาพแบบเชื่อมโยงในกลุ่มโรคที่สำคัญ ที่สามารถเป็นต้นแบบในระดับประเทศ เพื่อดูแลสุขภาพของนักศึกษา บุคลากร และประชาชนเชียงใหม่ ที่จะผลักดันและพัฒนาให้เชียงใหม่เป็นย่านนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ นโยบายด้านล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna Platform) เช่น เปิดพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อชาว มช.(Creative Lanna Open Space) เน้นการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ทั่ว มช. ทั้งในรูปแบบ onsite สำหรับงานสร้างสรรค์และออกแบบที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน รวมถึงการทำเวิร์คช็อป การวิจัย การพัฒนาเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน และยังเป็นพื้นที่สำหรับนักศึกษาบุคลากรหรือบุคคลทั่วไปที่ให้ความสนใจด้านงานสร้างสรรค์มาแลกเปลี่ยนไอเดีย และรูปแบบ on cloud ที่เป็นพื้นที่เผยแพร่ผลงาน รวมถึงให้บุคคลทั่วไปได้เข้าถึง และใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ด้านล้านนาสร้างสรรค์ นโยบาย CMU Smart City เมืองอัจฉริยะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งเน้นการใช้ข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการเมือง บูรณาการเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรมที่มีคุณค่า และนำมาต่อยอดให้ใช้งานได้จริง เช่น CMU Open Data ที่จะสร้างระบบการบูรณาการทางด้านข้อมูลในทุกมิติให้กับมหาวิทยาลัย เพื่อให้ทุกส่วนงานแลกเปลี่ยนและใช้ข้อมูลระหว่างกันได้ ส่งผลให้การดำเนินงานต่างๆ มีความถูกต้องและรวดเร็ว นโยบายด้านการจัดการ PM2.5 ในโครงการพีเอ็ม2.5 และมลพิษที่เกี่ยวข้อง จากพื้นที่สู่ห้องปฏิบัติการสู่การวิจัยทางคลินิก โดยประยุกต์ใช้โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่สร้างสมดุล ระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ (Bio – Circular - Green หรือ BCG Economy) เพื่อปัญหาสำคัญของพื้นที่ภาคเหนือ นโยบายและการดำเนินการต่างๆ จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่บรรลุวิสัยทัศน์ของการเป็น "มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม สามารถสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีนัยสำคัญและมีความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก" ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานสามารถเข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง มหาวิทยาลัยได้จัดทำเว็บไซต์นโยบายแผน 13 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ https://policy13.cmu.ac.th/ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานในด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัย โดยได้เผยแพร่ 92 นโยบาย ที่สอดรับกับวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ 6 ด้านหลัก พร้อมทั้งมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย มีช่องทางเปิดรับฟังทุกความเห็น เพื่อนำข้อเสนอแนะต่างๆ ไปพัฒนามหาวิทยาลัยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น การก้าวอย่างไม่หยุดนิ่งของทุกส่วนในการดำเนินงานตามนโยบายแผน 13 มช. ได้ตั้งเป้าหมายวิสัยทัศน์ในการบริหารว่า จะพัฒนามหาวิทยาลัยให้มีผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก โดย Time Higher Education University Impact Ranking (THE UIR) อยู่ใน 50 อันดับแรกของโลก รวมถึงมุ่งสร้างสรรค์ผลงานที่มีประโยชน์เพื่อสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม (Socio-Economic Impact) มากกว่า 60,000 ล้านบาท และนำมหาวิทยาลัยให้ได้รับการประเมินคุณภาพองค์กรตามเกณฑ์ Thailand Quality Award อยู่ในระดับ Thailand Quality Class Plus TQC+ (Innovation)