“พระพุทธหริภุญไชยสุภมงคล”
พระพุทธรูปประจำศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “หริภุญไชย” จังหวัดลำพูน



      มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยภูมิภาคแห่งแรกในภาคเหนือ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗ และได้จัดให้มีการเรียนการสอนมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยประดิษฐาน ณ ศาลาธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน ๒ องค์ ได้แก่
      ๑. พระพุทธทศพลชินราช (พระพุทธชินราชจำลอง) จัดสร้างโดยนายแพทย์จิตต์ ตู้จินดา และนางจันทร์ ตู้จินดา เพื่อถวายเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรและเจ้าคณะใหญ่หนเหนือในปี พ.ศ.๒๕๒๓ ต่อมา ในปี พ.ศ.๒๕๒๖ มหาวิทยาลัยได้ขอรับการอุปถัมภ์พระพุทธชินราชจำลองเพื่อเป็นที่สักการบูชาและเพื่อความเป็นสิริมงคลสำหรับมหาวิทยาลัย พร้อมกับฉลองสมโภชครบ ๒๐ ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้ขอพระราชทานเฉลิมนามจากสำนักราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวัง และได้รับแจ้งพระราชทานนามว่า “พระพุทธทศพลชินราช”
      ๒. พระพุทธพิงคนคราภิมงคล จัดสร้างโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะกรรมการดำเนินงานโครงการสร้างพระบูชาและวัตถุมงคลรุ่น ๗๐๐ ปี เชียงใหม่ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองสมโภช ๗๐๐ ปี จังหวัดเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยได้ขอพระราชทานนามพระพุทธรูปจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยได้รับพระราชทานนามว่า “พระพุทธพิงคนคราภิมงคล” เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙
      ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดสร้างพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย เพื่อความเป็นสิริมงคลและในโอกาสฉลองสมโภชครบ ๕๐ ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้รับความเมตตาจาก สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหารเป็นผู้ถวายพระนามพระพุทธรูปว่า “พระพุทธหริภุญไชยสุภมงคล” โดยมีพิธีทองหล่อเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๐ ณ ลานสัก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และพิธีมหาพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๐ ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จังหวัดลำพูน โดยได้รับความเมตตาจาก สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ทั้งสองพิธี
      “พระพุทธหริภุญไชยสุภมงคล” เป็นพระพุทธรูปแบบศิลปะล้านนา (เชียงใหม่ – ลำพูน) แบบเชียงแสน (สิงห์ ๑) ฐานเขียง ปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง ๑.๒๖ ม. สูงจากฐานที่นั่ง ๑.๖๘ ม. มีฐานรองรับติดกับองค์พระสูงประมาณ ๐.๕๐ ม. หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ปิดทองทั้งองค์ ได้รับการออกแบบเบื้องต้นโดย อาจารย์อำนวย กันทะอินทร์ อดีตคณบดีคณะวิจิตรศิลป์และอดีตผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคุณวีณา ภัทรประสิทธิ์ ประธานกรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีจิตศรัทธาพร้อมแจ้งความจำนงขอรับเป็นเจ้าภาพและออกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการปั้นแบบและการเททองหล่อพระพุทธรูปทั้งหมด โดยมีพิธีเททองหล่อ “พระพทธหริภุญไชยสุภมงคล” เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๐ ณ ลานสัก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในส่วนของมวลสารที่นำมาใช้ในพิธีเททองหล่อได้รับความเมตตาจากพระเถระอาจารย์ผู้เป็นที่เคารพเลื่อมใสจากจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาคเหนือจารอักขระแผ่นทอง เงิน นาค รวมถึงมวลสารศักดิ์สิทธิ์โดยผู้มีจิตศรัทธาส่งมาจากที่ต่าง ๆ ซึ่งในบริเวณพิธี มหาวิทยาลัยได้จัดเตรียมแผ่นทอง เงิน นาค ให้ผู้เดินทางมาร่วมพิธีได้มีส่วนร่วมในการเททองหล่ออีกด้วย
      หลังจากพิธีเททองหล่อได้เป็นพระพุทธรูปตามพุทธลักษณะที่งดงามแล้ว มหาวิทยาลัยได้อัญเชิญ “พระพุทธหริภุญไชยสุภมงคล” เพื่อประกอบพิธีที่สำคัญอีกพิธีหนึ่งคือ “พิธีมหาพุทธาภิเษก” เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๐ ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จังหวัดลำพูน จัดพิธีเป็นแบบแบบล้านนาโบราณโดยได้รับคำปรึกษาจากอาจารย์ ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้รับความเมตตาจากพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์และพระเถระในจังหวัดเชียงใหม่ - ลำพูนนั่งปรกอธิษฐานจิตและสวดเจริญพระพุทธมนต์ โดยมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมพิธี พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใสศรัทธาทั้งในท้องที่จังหวัดลำพูนและจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสักการะพระบรมธาตุหริภุญชัยได้ร่วมพิธีอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีการปลุกเสกเหรียญที่ระลึกและ “พระพุทธหริภุญไชยสุภมงคล” จำลอง เนื้อทองเหลืองรมดำและทองบรอนซ์ ขนาดหน้าตักกว้า ๕ นิ้ว และ ๙ นิ้ว โดยคณะกรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะมอบให้แก่ผู้บริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ซึ่งผู้สนใจสามารถร่วมบริจาคได้ที่งานทุนการศึกษาและสร้างเสริมสุขภาวะกองพัฒนานักศึกษา โทร. ๐๕๓ – ๙๔ ๓๐๔๕
      ปัจจุบัน “พระพุทธหริภุญไชยสุภมงคล” ได้ประดิษฐาน ณ หอธรรม ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัย เชียงใหม่ “หริภุญไชย” จังหวัดลำพูน ภายในหอธรรมมีการตกแต่งด้วยศิลปะแบบล้านนา เริ่มจากภาพจิตรกรรมที่มีเนื้อหาเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อและอุดมคติทางล้านนา ภาพพระบรมธาตุประจำปีเกิดทั้ง ๑๒ นกษัตร โดยด้านหลังองค์ “พระพุทธหริภุญไชยสุภมงคล” เป็นภาพพระบรมธาตุหริภุญชัยซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีระกา
(ปีไก่) เสาอาคารเป็นลายพรรณพฤกษาและสัตว์หิมพานต์ ดาวเพดานและตุงกระด้างด้านหน้าอาคารทั้งสองข้าง
ซ้าย - ขวา รวมถึงเทวดาถือดอกบัว ทางเข้าด้านหน้าประดับด้วยกระจกสีและทองคำเปลว การตกแต่งหอธรรมเริ่มแนวความคิดจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ประโยชน์ อุนจะนำ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อัศวิณีย์ หวานจริง อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ (ในขณะนั้น) ร่วมสร้างสรรค์ผลงานโดยคณาจารย์ภาควิชาศิลปะไทยและนักศึกษา คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


“พระพุทธหริภุญไชยสุภมงคล”
เป็นพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่องค์ที่สามถัดจากพระพุทธทศพลชินราชและพระพุทธพิงคนคราภิมงคล เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาว มช. ที่มีความผูกพันกับท้องถิ่นชุมชน ทั้งทางด้านจิตศรัทธาในพระศาสนาและการรังสรรค์ศิลปะอันเปี่ยมด้วยคุณค่า ควรร่วมทำนุบำรุงและอนุรักษ์ให้อยู่
คู่จังหวัดลำพูนและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สืบไป